สถานการณ์ความเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงที่ผ่านมาในประเทศไทยนั้น ร้อนแรงและเริ่มมีบทบาทมากขึ้นเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช ๒๕๕๗ และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๔) พุทธศักราช ๒๕๖๐ ได้เปิดโอกาสให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนชาวไทยได้มีส่วนร่วมทางการเมืองได้หลายช่องทาง อาทิเช่น เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพในการมีส่วนร่วมทางการเมือง เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นต้น ทำให้ปัจจุบันเราสามารถเห็นการใช้สิทธิเสรีภาพเหล่านี้ในลักษณะที่เป็นรูปธรรมตามหน้าจอมือถือ โทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงสื่อสังคมหรือโซเชียลมีเดีย ได้บ่อยครั้ง เช่น การชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง การนำดอกไม้หรือสิ่งของไปให้กำลังใจแก่พรรคการเมืองหรือนักการเมืองบางกลุ่ม การแสดงความคิดเห็น/วิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องทางการเมือง

ในฐานะที่เป็นข้าราชการ จึงมีข้อน่าคิดว่า ข้าราชการจะสามารถใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวข้างต้นเช่นเดียวกับประชาชนชาวไทยคนอื่น ๆ ได้หรือไม่เพียงใด และจะถือเป็นความผิดวินัยหรือไม่

ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ มีบทบัญญัติที่ให้สิทธิเสรีภาพ และกำหนดขอบเขตแนวทางการปฏิบัติตัวแก่ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ในเรื่องทางการเมืองไว้เช่นเดียวกัน กล่าวคือ

มาตรา ๘๓  ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องสนับสนุนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยด้วยความบริสุทธิ์ใจและมีหน้าที่วางรากฐานให้เกิดระบอบการปกครอง เช่นว่านั้น

มาตรา ๙๓  ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องวางตนเป็นกลางทางการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ และในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน โดยต้องไม่อาศัยอำนาจและหน้าที่ราชการของตนแสดงการฝักใฝ่ ส่งเสริม เกื้อกูล สนับสนุนบุคคล กลุ่มบุคคล หรือพรรคการเมืองใด

ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินการใด ๆ อันมีลักษณะเป็นการทุจริตโดยการซื้อสิทธิหรือขายเสียงในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือการเลือกตั้งอื่นที่มีลักษณะเป็นการส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย รวมทั้งจะต้องไม่ให้การส่งเสริม สนับสนุน หรือชักจูงให้ผู้อื่นกระทำการในลักษณะเดียวกัน การดำเนินการที่ฝ่าฝืนหลักการดังกล่าวนี้ เป็นความผิดวินัยอย่างร้ายแรง

จากบทบัญญัติข้างต้นมีแนวคิดมาจากการที่ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานของประเทศ จึงจำเป็นที่จะต้องเป็นผู้เลื่อมใสและสนับสนุนการปกครองในระบบดังกล่าว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปได้อย่างเรียบร้อย อันจะส่งผลให้ประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า ซึ่งการสนับสนุนในความหมายนี้คือ การส่งเสริม เสริมสร้าง หรือไม่คัดค้านการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานไม่สนับสนุนการปกครองระบอบดังกล่าว ได้แก่ การกระทำในทางคัดค้าน ต่อต้านหรือเป็นปรปักษ์

มาตรา 93 กำหนดให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาต้องวางตัวเป็นกลางทางการเมือง มาตรานี้เป็นข้อกำหนดวินัยที่บัญญัติขึ้นมาโดยมีเจตนารมณ์ให้ข้าราชการประจำมีความเป็นกลางทางการเมือง โดยเฉพาะในการปฏิบัติหน้าที่ราชการและในการปฏิบัติการอื่น ๆ ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับประชาชน แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิข้าราชการประจำในการที่จะเข้าเป็นสมาชิกพรรคการเมือง

นอกจากนี้ข้าราชการยังต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักคณะรัฐมนตรีว่าด้วยมารยาททางการเมืองของข้าราชการพลเรือน ลงวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2499 ที่กำหนดไว้ว่าข้าราชการพลเรือนจะนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใด ๆ ที่ตั้งโดยชอบด้วยกฎหมาย และจะไปในการประชุมของพรรคการเมืองนั้นเป็นการส่วนตัวก็ได้ แต่ในทางที่เกี่ยวกับประชาชน และในหน้าที่ราชการจะต้องกระทำตัวเป็นกลาง ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาลโดยไม่คำนึงถึงพรรคการเมือง และต้องไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้าม ดังต่อไปนี้

(1) ไม่ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองใด ๆ เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ประเภท 2 หรือข้าราชการการเมือง

(2) ไม่ใช้สถานที่ราชการในกิจการทางการเมือง

(3) ไม่วิพากษ์วิจารณ์การกระทำของรัฐบาลให้ปรากฏแก่ประชาชน

(4) ไม่แต่งเครื่องแบบราชการไปร่วมประชุมพรรคการเมือง หรือไปร่วมประชุมในที่สาธารณสถานใด ๆ อันเป็นการประชุมที่มีลักษณะทางการเมือง

(5) ไม่ประดับเครื่องหมายพรรคการเมืองในเวลาสวมเครื่องแบบราชการหรือในเวลาราชการหรือในสถานที่ราชการ

(6) ไม่แต่งเครื่องแบบของพรรคการเมืองเข้าไปในสถานที่ราชการ

(7) ไม่บังคับให้ผู้ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดและไม่กระทำการในทางให้คุณให้โทษ เพราะเหตุที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือประชาชนนิยมหรือเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองใดที่ตั้งขึ้นโดยชอบด้วยกฎหมาย

(8) ไม่ทำการขอร้องให้บุคคลใคอุทิศเงินหรือทรัพย์สินเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง

(9) ไม่โฆษณาหาเสียงเพื่อประโยชน์แก่พรรคการเมือง หรือแสดงการสนับสนุนพรรคการเมืองใด ๆ ให้เป็นการเปีดเผยในที่ประชุมพรรคการเมือง และในที่ที่ปรากฎแก่ประชาชน หรือเขียนจดหมายหรือบทความไปลงหนังสือพิมพ์ หรือพิมพ์หนังสือหรือใบปลิวซึ่งจะจำหน่ายแจกจ่ายไปยังประชาชน อันเป็นข้อความที่มีลักษณะของการเมือง

(10) ไม่ปฏิบัติหน้าที่แทรกแซงในทางการเมือง หรือใช้การเมืองเป็นเครื่องมือเพื่อกระทำกิจการต่าง ๆ อาทิเช่น วิ่งเต้นติดต่อกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือพรรคการเมืองเพื่อให้นำร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติเสนอ   สภาฯ หรือตั้งกระทู้ถามรัฐบาล

(11) ในระยะเวลาที่มีการสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่แสดงออกโดยตรงหรือโดยปริยาย ที่จะเป็นการช่วยเหลือส่งเสริมสนับสนุนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และในทางกลับกันไม่กีดกัน ตำหนิติเตียน ทับถม หรือ     ให้ร้ายผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ข้าราชการผู้ใดกระทำการฝ่าฝืนระเบียบนี้ ถือว่ากระทำผิดวินัยฐานไม่ถือและปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ จากข้างต้นแสดงให้เห็นว่าในเรื่องทางการเมืองนั้น ข้าราชการ ก็เหมือนสวมหมวกสองใบ ใบหนึ่งก็คือในฐานะเป็นประชาชนคนไทยคนหนึ่ง มีสิทธิเสรีภาพในการเลือกที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง ภายใต้บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ให้ไว้ ส่วนหมวกอีกใบหนึ่งที่สวมนั้น ก็คือในฐานะของข้าราชการ ซึ่งจะถูกจำกัดบทบาทหน้าที่ไว้บางประการ ทั้งนี้เพื่อให้เหมาะสมกับฐานะความเป็นข้าราชการ ดังนั้นในเรื่องนี้จึงเห็นได้ว่าข้าราชการยังคงสามารถใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ได้เฉกเช่นเดียวกับประชาชนคนไทยทั่วไป เพียงแต่พฤติกรรมหรือการกระทำบางอย่างก็อาจต้องใคร่ครวญดูเสียหน่อยก่อนว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยเฉพาะในกรณีเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ หรือในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ก็จะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ดังนั้นหากถามว่า ข้าราชการที่กระทำการต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องทางการเมือง จะมีความผิดวินัยหรือไม่ ก็จะต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงว่าพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ราชการหรือในการปฏิบัติการอื่นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนของข้าราชการผู้นั้น ว่าเป็นการกระทำในฐานะใด ประชาชนหรือข้าราชการและลักษณะการกระทำนั้นเหมาะสมกับการเป็นข้าราชการหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว นอกจากจะถือเป็นความผิดวินัยฐานไม่วางตัวเป็นกลางทางการเมืองตามมาตรา 93 แล้ว อาจเป็นความผิดวินัยฐานไม่รักษาชื่อเสียงและเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการของตนมิให้เสื่อมเสีย ตามมาตรา ๙๔ วรรคแรก ได้ด้วยเช่นกัน